2100MHz
การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 จบลงด้วยความประหลาดใจ เมื่อบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทลูกของ AIS) ซึ่งเคาะราคาประมูลสูงที่สุดและมีสิทธิได้เลือกย่านความถี่ก่อน ไม่ได้เลือกย่านความถี่ที่เคยเชื่อว่าเป็นย่านที่ดีที่สุดคือ 1920-1935 MHz คู่กับ 2110-2125 MHz แต่กลับไปเลือกย่านความถี่ 1950-1965 MHz คู่กับ 2140-2155 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ติดกับทีโอที
และยิ่งประหลาดใจเมื่อบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (บริษัทลูกของทรู) ซึ่งเคาะราคาประมูลเท่ากับบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด แต่จับฉลากชนะจึงมีสิทธิเลือกย่านความถี่ก่อน ก็ได้เลือกย่านความถี่ 1935-1950 MHz คู่กับ 2125-2140 MHz ปล่อยให้บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้ย่านความถี่ที่เชื่อว่าเป็นย่านที่ดีที่สุดไปอย่างส้มหล่น
เกิดอะไรขึ้น
ก่อนการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz กทค.เชื่อว่าผู้ให้บริการจะประมูลเลือกย่านความถี่ที่ดีที่สุด โดยย่านที่ดีที่สุดนั้นเชื่อกันว่าน่าจะเป็นย่าน1920-1935 MHz คู่กับ 2110-2125 MHz เพราะเป็นย่านความถี่ต่ำที่สุดที่มีให้ประมูล น่าจะส่งสัญญาณได้ไกลกว่าย่านอื่น และเป็นย่านความถี่ที่อยู่ริมสุด ไม่ถูกขนาบข้างโดยคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการรายอื่น จึงมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่าย่านอื่น
การที่บริษัทลูก AIS เลือกย่านความถี่ตรงกลางที่ติดกับทีโอที ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า AIS กำลังคิดจะจับมือทำธุรกิจกับทีโอที ซึ่งคุณวิเชียร CEO AIS ได้ให้คำตอบแล้วว่า AIS สนใจจับมือทำธุรกิจกับทีโอทีอยู่แล้ว เพราะ AIS เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของทีโอที แต่นั่นเป็นเรื่องในอนาคตอีกยาวไกล
การจับมือกันทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเลือกย่านความถี่ติดกัน ทุกวันนี้ AIS ก็จับมือโรมมิ่งกับทีโอทีอยู่แล้ว โดยใช้ย่านความถี่ 900 MHz ในขณะที่ทีโอทีใช้ 2100 MHz การที่บริษัทลูกของ AIS เลือกย่านความถี่ในตำแหน่งดังกล่าวน่าจะมีเหตุผลอื่น
ย่านความถี่ต่ำ ส่งสัญญาณได้ไกลกว่าจริงหรือ
ย่านความถี่ต่ำ ส่งสัญญาณได้ไกลกว่า และทะลุทลวงดีกว่าย่านความถี่สูง เป็นข้อเท็จจริงซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วในเครือข่าย 2G ย่าน 900 MHz ของ AIS ส่งสัญญาณได้ไกลกว่าย่าน 1800 MHz ของ dtac และ True Move ในต่างจังหวัด แต่นั่นเป็นเพราะย่าน 900 MHz กับ 1800 MHz มีความถี่แตกต่างกันมากถึงเท่าตัว ส่วนความถี่ 2100 MHz ทั้งสามย่านความถี่ที่ให้ประมูลแย่งกันนั้น มีความถี่แตกต่างกันน้อยมาก ความแรงของสัญญาณ และการส่งสัญญาณใกล้ไกลกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพงานติดตั้งมากกว่าผลของย่านความถี่
ย่านความถี่ที่อยู่ริมสุดมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่าย่านความถี่ที่อยู่ตรงกลางจริงหรือ
มาตรฐาน 3G ที่ใช้เทคโนโลยี WCDMA ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้คลื่นความถี่ช่องละ 5 MHz โดยความถี่แต่ละช่องสามารถอยู่ติดกันได้โดยไม่ต้องมีการ์ดแบนด์ดังนั้นการที่ถูกขนาบข้างโดยคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการรายอื่นจึงไม่ใช่ปัญหา ในกรณีที่อุปกรณ์ 3G ของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งขัดข้องส่งสัญญาณไปรบกวนผู้ให้บริการรายอื่น เราก็รู้ว่าสัญญาณรบกวนมาจากคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการรายใด สามารถประสานงานกับผู้ให้บริการรายนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนได้โดยง่าย แต่การที่ได้ย่านความถี่อยู่ริมติดกับพื้นที่ว่างเปล่าหากถูกคลื่นรบกวนขึ้นมาคราวนี้ไม่รู้ว่าสัญญาณรบกวนนั้นเป็นของใคร ต้องร้องเรียนไปที่สำนักงานกสทช.ให้ช่วยหาที่มาของสัญญาณรบกวน ซึ่งการแก้ปัญหาแต่ละครั้งมีความยากลำบากและใช้เวลาพอสมควร
ย่านความถี่ 2100 MHz แต่เดิมนั้นเคยถูกใช้งานเป็น microwave link 2 GHz ซึ่งส่งสัญญาณได้ไกล แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคลื่นความถี่ดังกล่าวถูกกรมไปรษณีย์โทรเลขเรียกคืนเพื่อนำมาทำระบบโทรศัพท์ IMT-2000 ซึ่งก็คือ 3G ในวันนี้ ไมโครเวฟ 2 GHz จึงต้องถูกทดแทนด้วยไมโครเวฟในย่านอื่นซึ่งส่งสัญญาณได้ในระยะทางที่สั้นกว่า บางแห่งต้องใช้ไมโครเวฟย่านอื่นถึง 2 hop เพื่อทดแทนไมโครเวฟ 2 GHz เพียง hop เดียว เป็นไปได้ว่ายังมีบางหน่วยงานยังแอบใช้ความถี่ย่าน 2 GHz อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งอาจส่งสัญญาณรบกวนระบบ 3G ได้ สัญญาณรบกวนนี้หาที่มาของสัญญาณได้ยากหากรบกวนมาจากริมซ้ายหรือริมขวาของย่านความถี่ 2100 MHz เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ
ความถี่ย่าน 1800 MHz สามารถรบกวนย่าน 2100 MHz ได้ในระบบสายอากาศร่วมในอาคาร
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีการติดตั้งระบบสายอากาศในตึกและห้างสรรพสินค้าต่างๆเพื่อปรับปรุงสัญญาณในอาคาร สายอากาศในอาคารเหล่านี้มักจะใช้ร่วมกันโดยผู้ให้บริการหลายรายเพื่อลดต้นทุน ในบางครั้งเจ้าของสถานที่ก็บังคับให้ใช้สายอากาศร่วมกันเพื่อความสวยงามของอาคาร ผู้ให้บริการแต่ละรายจะติดตั้งสถานีฐานของตนเองแต่ผสมสัญญาณมาออกสายอากาศร่วมในอาคารชุดเดียวกัน
ระบบสายอากาศร่วมในอาคารเหล่านี้ประกอบด้วยข้อต่อ (connector) และอุปกรณ์แยกสัญญาณ (splitter) จำนวนมากซ่อนอยู่ใต้ฝ้าเพดานและในช่อง shaft ของอาคาร หากข้อต่อเหล่านี้หลวมหรือเข้าสายไม่ดีจะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนเรียกว่าอินเตอร์มอดูเลชั่น
อินเตอร์มอดูเลชั่น คือการที่คลื่นความถี่ f1 และ f2 มาผสมกันอย่างไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่ในย่านอื่น ซึ่งสัญญาณรบกวนจะแรงที่สุดที่ความถี่ (2 x f1) – f2 และ (2 x f2) – f1
ความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ใช้งานอยู่โดย dtac, True Move และ DPC มีความถี่อัพลิงค์ 1710-1785 MHz คู่กับความถี่ดาวน์ลิงค์ 1805-1880 MHz ซึ่งความถี่ดาวน์ลิงค์สามารถทำให้เกิดอินเตอร์มอดูเลชั่นเป็นสัญญาณรบกวนขึ้นมาถึงย่าน 2100 MHz ได้
วิธีคำนวณว่าอินเตอร์มอดูเลชั่นจากย่าน 1800 สามารถสร้างสัญญาณรบกวนไปไกลที่สุดถึงความถี่ย่านใด ให้แทน f1 และ f2 ด้วยความถี่ที่อยู่ห่างกันที่สุด คือ f1 = 1880 MHz, f2 = 1805 MHz ดังนั้น (2 x f1) – f2 = 1955 MHz แสดงว่าย่านอัพลิงค์ของ 2100 MHz ตั้งแต่ขอบซ้ายสุดคือ 1920 MHz ไปจนถึง 1955 MHz มีโอกาสถูกกวนโดยอินเตอร์มอดูเลชั่นจากระบบ 1800 ในระบบสายอากาศร่วมในอาคาร ดังนั้นย่านความถี่ 2100 ที่มีการประมูลที่มีโอกาสถูกรบกวนโดยอินเตอร์มอดูเลชั่นของ 1800 น้อยที่สุดก็คือย่าน 1950-1965 MHz คู่กับ 2140-2155 MHz ซึ่งผู้ที่เคาะราคาประมูลสูงสุดเลือกไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเลือกย่านความถี่ไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดว่าเครือข่ายของผู้ให้บริการรายใดจะมีคุณภาพดีที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะความรู้ความชำนาญของคนที่ดูแลเครือข่ายนั้นครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น