1.29.2558

LTE

LTE : Long Term Evolution

LTE มีความเป็นมาอย่างไร
LTE หรือในชื่อเต็ม ๆ ว่า Long Term Evolution เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่พัฒนาในเส้นทางการพัฒนาของระบบ GMS-UMTS ซึ่งมุ่งเป้าที่จะพัฒนาไปสู่ยุค 4G ที่มีการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง กลุ่มที่พัฒนาเทคโนโลยี 3G ในสายนี้ก็คือ 3GPP นั่นเองครับ เริ่มต้นที่การพัฒนาระบบ GSM ที่เป็นยุค 2G ที่เน้นการสื่อสารด้วยเสียงเป็นหลัก และเป็นระบบดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นมาในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่พัฒนาขึ้นจากเดิมที่ใช้เป็นแบบอะนาล็อก
จากนั้นเมื่อยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟูขึ้น มีการใช้โมเด็มอย่างแพร่หลาย ก็เริ่มมีคำถามถึงเทคโนโลยีไร้สายที่จะนำมาใช้ในการสื่อสารข้อมูล ซึ่งระบบ GSM นั้นก็สามารถที่จะใช้ในการสื่อสารข้อมูลได้ในลักษณะการเชื่อมต่อแบบ Circuit Switched ที่ความเร็ว 9.6-14.4 Kbps เท่านั้น ไม่ได้ความเร็วที่มากมายเทียบเท่ากับโมเด็มสักเท่าไร ซึ่งต้องถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะพัฒนาการสื่อสารข้อมูลไร้สายกันแล้ว
จากนั้นก็มีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบ 2.5G หรือ GPRS (Geneal Packet Radio Service) ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ Packet Switched ซึ่งจะช่วยประหยัดทรัพยากรมากกว่า
ความเร็วที่ได้จากระบบ GPRS อยู่ที่ประมาณ 32-48 Kbps พอจะเทียบเคียงได้กับโมเด็มที่ต่อผ่านสายโทรศัพท์ยุคเก่า ความเร็วระดับนี้ก็ได้เริ่มทำให้การสื่อสารข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นความจริงขึ้นมา ต่อมาก็มีการพัฒนาเป็นระบบ EDGE (Enhanced Data Rate for GSM Evolution) ซึ่งถือว่าเป็นยุค 2.9G โดยได้พัฒนาจนได้ความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 236 Kbps และประเทศไทยได้ติดตั้งบนพื้นที่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังคงใช้งานจนทุกวันนี้ (เพราะเราเองก็ยังไม่มีระบบ 3G จริงจังสักเท่าไร)
จากนั้นก็มีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบ 3G ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นประมาณปี 2001 ในตอนนั้นความเร็วของระบบ UMTS (universal Mobile Telecommunication System) หรือ 3G ตัวแรกมีความเร็วไม่มากเท่าไร ความเร็วจะอยู่ที่ประมาณ 384 Kbps ซึ่งไม่แตกต่างกับ EDGE เท่าไรนัก ทำให้ 3G ยุคแรก ๆ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (เทคโนโลยีนี้จะเป็นมาตรฐาน 3GPP รีลีส 99)
แต่ด้วยแรงกดดันของความต้องการการสื่อสารข้อมูลไร้สาย จึงทำให้เกิดเทคโนโลยีทางเลือกต่าง ๆ ขึ้นในช่วงนั้น นั่นคือ ไวไฟ (WiFi) และทำให้เทคโนโลยีที่เป็นที่สนใจกันมากเกิดขึ้นมาตัวหนึ่งคือ ไวแมกซ์ (WiMAX) ได้กลายเป็นแรงกดดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี 3G ขึ้นไปอีก โดยกลายเป็น 3.5G ที่เรียกกันว่า HSPA (High Speed Packet Access) โดยแบ่งออกเป็น HSDPA และ HSUPA ซึ่งมีความแตกต่างกันตรงที่เทคโนโลยีหนึ่งเน้นด้านดาวน์ลิงก์หรือด้านส่งข้อมูลถึงผู้รับ และเทคโนโลยีอีกตัวหนึ่งเน้นด้านอัพลิงก์หรือการส่งข้อมูลขึ้นไปแสดงผล
HSDPA (High Speed Downlink Packet Access, 3GPP Rel-5) นั้น มีการพัฒนาขึ้นมาก่อนและพัฒนาต่อมาตามลำดับ ตั้งแต่ 1.8 Mbps, 3.6 Mbps ไปถึง 7.2 Mbps ซึ่งความเร็วของทั้ง 2 ตัวหลังนี้มีอุปกรณ์รองรับมากมายและเป็นที่นิยมทั่วโลกดังที่เราจะเห็นได้จากจำนวนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รองรับความเร็วเหล่านี้ ซึ่งอุปกรณ์ที่รองรับความเร็ว 3.6 Mbps นั้นมีจำนวน 1,167 ตัว ความเร็ว 7.2 Mbps ก็มีถึง 657 อุปกรณ์ที่รองรับ ทำให้ความเร็ว 7.2 Mbps เป็นมาตรฐานการให้บริการ HSPA ในปัจจุบัน เพราะมีความเร็วที่ดีกว่า บริการที่ได้ก็มากกว่า และทำให้ลูกค้ายินดีที่จะใช้บริการมากขึ้น
เมื่อมีการพัฒนาความเร็วด้านขาลงก็ต้องมีการพัฒนาด้านขาขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นคือ HSUPA (High Speed Uplink Packet Access, 3GPP Rel-6) ซึ่งมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนล่าสุดได้ความเร็วสูงสุดที่ 5.76 Mbps ซึ่งก็ถือว่าเร็วมาก มีอุปกรณ์รองรับจำนวน 344 อุปกรณ์ในตลาด มีเครือข่ายรองรับ 92 เครือข่าย นับว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว
HSPA+ ที่พัฒนาต่อมานั้นเริ่มแรกสามารถที่จะให้ความเร็วได้ถึง 21 Mbps และ 28 Mbps ในด้านดาวน์ลิงก์ และให้ความเร็วด้านอัพลิงก์ที่ 11 Mbps ซึ่ง 21 และ 28 Mbps แตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องของการเข้าโค๊ด (16QAM vs. 64QAM) และการใช้เทคนิค MIMO (Multiple Input Multiple Output) ที่ใช้อย่างแพร่หลายในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เคยได้กล่าวถึงกันไปแล้ว ซึ่งในปัจจุบันเองก็มีประเทศที่เปิดให้บริการแล้ว โดยความเร็ว 21 Mbps มี 25 เครือข่าย และ 28 Mbps อีก 1 เครือข่าย
อย่างไรก็ตามการพัฒนาก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป จึงทำให้ต้องมีการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี Beyond 3G นั่นคือเทคโนโลยี LTE นี่เอง ซึ่งคาดว่าจะใช้ชื่อมาตรฐานเป็น 3GPP Rel-8 โดยได้เริ่มงานศึกษากันตั้งแต่ปี 2004
หลังจากที่ได้ศึกษาก็ได้มีการเริ่มต้นกำหนดรายละเอียดมาตรฐานส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งได้มีการกำหนดปรับปรุงแก้ไขกันมาตลอดจนกระทั่งมาเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมปี 2008 ที่ผ่านมา และก็ได้มีการทดสอบกันในประเทศชั้นนำอย่างประเทศญี่ปุ่น มุ่งเน้นกับการทำ Trial การทดสอบต่าง ๆ การพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของเครือข่ายเพื่อให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน
อาจจะแปลกใจเล็ก ๆ ว่าผู้ที่เป็นโต้โผผลักดันหลักของมาตรฐานตัวนี้เพื่อให้เกิด LTE ขึ้นมานั้นไม่ใช่ฝั่งผู้ผลิตหรือผู้สร้างมาตรฐานดังที่ผ่าน ๆ มา หากแต่เป็นผู้ให้บริการเองครับ โดยทางผู้ให้บริการรายใหญ่ต่าง ๆ ได้แก่ Sprint Nextel จากสหรัฐอเมริกา, China Mobile, Vodafone, Orange, KPN Mobile, T-Mobile International และ NTT DoCoMo ได้ร่วมมือกันผลักดัน โดยจัดตั้งเป็นบริษัทที่ชื่อว่า Next Generation Mobile Networks (NGMN) ขึ้นมาในเดือนกันยายน 2006 ซึ่งได้กำหนดความต้องการเป็นภาพคร่าว ๆ ไว้สำหรับเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สายยุคอนาคต ไม่เพียงแค่ LTE ยังมีส่วนอื่น ๆ ทั้งเครือข่ายด้วย อย่างเช่น SAE (Service Architecture Evolution) ซึ่งเป็นส่วนของ Core Network เป็นต้น และกำหนดให้มันกลายเป็นมาตรฐานขึ้นมา ซึ่งข้อดีของการที่มีผู้ให้บริการผลักดันก็คือเป็นผู้ที่ใช้งานเทคโนโลยีและให้บริการแก่ลูกค้าจริง ๆ จึงเป็นผู้ที่ตอบโจทย์ได้ชัดเจนที่สุดว่าต้องการอะไร และอยากให้เป็นอย่างไร นับว่าเริ่มต้นได้ดีทีเดียวนะครับ
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกลุ่ม LTE/SAE Trial Initiative (LSTI) ขึ้นจากทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อทำการทดสอบระบบ LTE ในระหว่างการพัฒนา เรียกว่าคุมกันทั้งกระบวนการเลยทีเดียว นับว่าพอจะเห็นอนาคตที่สดใสเป็นลาง ๆ แล้วครับ
ในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกันที่ประเทศญี่ปุ่นกับ NTT DoCoMo และโอเปอเรเตอร์อื่น ๆ คาดว่าจะเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2010 ซึ่งไม่เพียงแต่ NTT DoCoMo เท่านั้น แต่รวมถึง AT&T และอีกหลายโอเปอเรเตอร์ที่จดจ้องกันอยู่

ทำไมต้อง LTE

สาเหตุที่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของระบบ LTE นี้ก็คือการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตนั่นเอง เป็นเพราะเทคโนโลยีบรอดแบนด์ในขณะนี้ได้เป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีการแข่งขันด้านบรอดแบนด์กันดุเดือดมากขึ้น ทั้งทรู แม็กซ์เน็ต และทีโอที เป็นต้น ส่วนเรื่องความเร็วก็พัฒนามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย เช่น โมบายล์บรอดแบนด์จะประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูงอย่าง LTE ขึ้นมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพของสเปกตรัม (Spectrum) ที่ดีกว่า มี Latency ต่ำกว่า เพื่อที่จะทำให้ได้แบนด์วิดธ์และ Latency ในการบริการที่ดีกว่า นอกจากนี้ทางผู้ให้บริการทางสาย CDMA ก็เริ่มจะมีประเด็นในเรื่องอนาคตที่จะก้าวต่อไป เนื่องจากว่าในปัจจุบันนั้นไม่ได้พัฒนาไปยัง EV-DO Rev.B หรือ UMB อย่างชัดเจน ซึ่งหากจะต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการสาย GSM ซึ่งไปยัง WCDMA และ HSPA ในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไป ดังนั้นจึงได้หันทิศทางมาผลักดันเทคโนโลยีนี้ด้วย จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เทคโนโลยีนี้มีอนาคตที่สดใสไม่น้อยทีเดียว
และด้วยแรงผลักดันต่อเทคโนโลยีดังกล่าว เทคโนโลยีนี้จึงต้องให้แบนด์วิดธ์ได้สูงถึง 100 Mbps ทางด้านดาวน์ลิงก์ และประมาณ 50 Mbps ทางด้านอัพลิงก์ การให้บริการได้ถึง 200 Active Users ในเซลล์เดียวกัน มีความยืดหยุ่นของสเปกตรัมความถี่ที่ให้บริการทำได้ตั้งแต่ 1.25-20 เมกะเฮิรตซ์แบบไม่ตายตัว เช่น WCDMA ที่มีแค่ 5 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น และยังให้ Latency น้อยกว่า 5 ms ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้ต้องมีการกำหนด Air Interface ใหม่ มีสถาปัตยกรรมเครือข่ายซับซ้อนน้อยลง แบนราบมากขึ้น
ด้วยความต้องการเหล่านี้จึงทำให้เทคโนโลยี LTE พัฒนาตามแนวทางนี้ โดยมีโครงสร้างและสถาปัตยกรรมหรือ Architecture ที่แบนราบ ลักษณะเป็นแบบ 2 Node เท่านั้น ก็คือ EPS (Evolved Packet System) และ eNodeB ใช้เทคโนโลยีทางด้านความถี่ใหม่ ๆ อย่าง OFDMA ซึ่งทำให้ได้ประสิทธิภาพทางความถี่ที่ดีขึ้น สามารถที่จะำได้แบนด์วิดธ์เพิ่มขึ้นจากสเปกตรัมที่ใช้งานเดิม และเพื่อให้ได้แบนด์วิดธ์ใช้งานสูงขึ้นได้กำหนดให้มีแบนด์วิดธ์ของสเปกตรัมที่ใช้งานได้กว้างถึง 20 เมกะเฮิรตซ์ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเพิ่มเติมความยืดหยุ่นในการใช้งานให้เลือกได้ตั้งแต่ 1.25 ไปจนถึง 20 เมกะเฮิรตซ์นั่นเอง แต่จะทำได้อย่างไรเรามาดูรายละเอียดกันในตารางที่ 1 นะครับ
ตารางที่ 1 ความเร็วของ LTE ที่ Configuration ต่าง ๆ (ที่มา: ABI Research)



สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีของ LTE

คงต้องบอกกล่าวกันสักนิดหนึ่งว่าไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเจาะลึกเทคโนโลยี LTE ในที่นี้ เพียงแต่จะแนะนำเทคโนโลยี LTE ให้เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งเท่านั้น
เอาล่ะครับมาว่ากันต่อ เริ่มต้นที่สถาปัตยกรรมของ LTE ก่อน เนื่องจากจุดประสงค์ของการสร้าง LTE ส่วนหนึ่งก็คือการทำให้ Latency ลดลง ซึ่งวิธีที่ได้ผลที่สุดก็คือการทำให้สถาปัตยกรรมหรือ Architecture นั้นแบนราบที่สุด ซึ่งทำให้เทคโนโลยี LTE เป็นแบบง่าย ๆ มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ eNodeB และ EPS ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่จริง ๆ แล้วยังมีส่วนประกอบภายในเพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนแรกที่ขาดไม่ได้คือ HSS (Home Subscriber Server) ซึ่งเป็นส่วนที่เก็บข้อมูลลูกค้าเอาไว้ ส่วน PCRF (Policy and Charging Rule Function) แต่ส่วนที่สำคัญก็คือ MME (Mobility Management Entity) และ SAE (System Architecture Evolution) Gateway
ส่วน MME ทำหน้าที่เป็นส่วนควบคุมของเครือข่าย LTE รวมทั้งสัญญาณ (Signaling) ต่าง ๆ การตรวจสอบต่าง ๆ ในระบบ และรวมถึงการทำงานร่วมกันของเครือข่าย 2G/3G กับ LTE ด้วย
ส่วน SAE Gateway จะำทำหน้าที่เป็นเกตเวย์ให้กับข้อมูลในด้านการรับส่งออกจากเครือข่าย ซึ่งมันเองก็อาจจะทำหน้าที่เป็น PDN Gateway ที่จะรับส่งข้อมูลต่าง ๆ จากภายนอกเครือข่ายอีกด้วย ซึ่ง ณ จุดนี้จะมีการกำหนด Policy ต่าง ๆ เป็นต้น ดังรูปที่ 1 ที่มี 3GPP Anchor และ SAE Anchor ที่รวมเข้าเป็น SAE Gateway
รูปที่ 1 โครงสร้างสถาปัตยกรรมของ LTE (ที่มา: 3GPP TR 23.882)
สำหรับเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถที่จะใช้ความถี่ที่ได้รับดีขึ้นมีอยู่หลายส่วน ซึ่งในส่วนแรกที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพความถี่ดีขึ้นและมีความยืดหยุ่นในการใช้สเปกตรัมก็คือเทคโนโลยี OFDMA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความถี่ยุคใหม่ในรุ่นใหม่ต่าง ๆ เช่น ไวแมกซ์ก็นำมาใช้งาน โดยทาง LTE ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานด้านดาวน์ลิงก์และนำ SC-FDMA (Single Carrier Frequency Division Multiple Access) มาใช้งานทางด้านอัพลิงก์ ซึ่งนอกจากจะได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สามารถที่จะให้บริการได้ที่ความเร็ว 100 Mbps ในด้านดาวน์ลิงก์ และ 50 Mbps ทางด้านอัพลิงก์แล้ว ยังมีความยืดหยุ่นตามสไตล์ของ OFDMA ซึ่งช่วยให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนใช้งานความถี่ได้ที่แบนด์วิดธ์ต่าง ๆ กันตั้งแต่ 1.25 ถึง 20 เมกะเฮิรตซ์ จึงไม่เป็นข้อจำกัดที่จะให้บริการเทคโนโลยี LTE นี้ทางด้านความถี่
นอกจากเทคโนโลยี OFDMA ที่ใช้แล้ว เพื่อที่จะเพิ่มแบนด์วิดธ์ที่ได้ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีของ MIMO เข้ามาใช้งานด้วย ทำให้สามารถที่จะเพิ่มความเร็วของการให้บริการยิ่งขึ้นอีกดังตารางที่ 1 ซึ่งเทคโนโลยี LTE ได้ทำให้โลกการสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สายเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริงด้วยอัตราความเร็วที่สุด ๆ กันไปเลย
สำหรับความถี่สเปกตรัมที่เปิดใช้งาน ทาง LTE ก็เปิดมาตรฐานให้มีการใช้งานได้หลาย ๆ ความถี่ แต่สำหรับความถี่ที่น่าจับตามองหลัก ๆ ก็คือความถี่สำหรับให้บริการเทคโนโลยี 3G ในปัจจุบันนี้ เนื่องจาก License ที่มีราคาแพง ทำให้ต้องกินเวลาในการคืนทุน และสำหรับผู้ที่สนใจมาใช้งานเทคโนโลยี LTE ก็จะเน้นไปยังผู้ที่ให้บริการ 3G ในปัจจุบันเป็นหลัก และมีการคาดการณ์กันว่า NTT ที่เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี LTE นี้ได้วางแผนที่จะใช้ความถี่นี้กับ LTE จึงทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ มีสิทธิ์ที่จะได้เห็นการใช้ความถี่ของ LTE กันละครับ
แต่สำหรับความถี่ที่น่าจับตามองอย่างมากก็คือความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2.6 กิกะเฮิรตซ์นั่นเอง สาเหตุก็คือทาง Verizon และ AT&T ซึ่งเป็นผู้ที่มุ่งมั่นอย่างมากที่จะใช้งานเทคโนโลยี LTE ประมูลความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์นี้มาได้ และประกาศอย่างชัดเจนที่จะผลักดันใช้งานความถี่นี้ในการให้บริการ LTE ในปี 2010 หรือภายในปีนี้ โดยจะใช้ร่วมกับความถี่ 1.7/2.1 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ในการให้บริการ 3G ดังนั้นเราเองก็น่าจะได้เห็นเทคโนโลยี LTE ที่ความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ค่อนข้างแน่นอน ถึงแม้ว่าทั้ง Verizon และ AT&T จะได้ความถี่มาไม่ครบถ้วนทั้ง 20 เมกะเฮิรตซ์ก็ตาม แต่สำหรับ Verizon ที่ได้ความถี่นี้มาประมาณ11 Mbps ก็เพียงพอที่จะแสดงความเร็วของ LTE ได้พอสมควร และด้าน AT&T ใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุจนได้ความถี่ถึง 24 เมกะเฮิรตซ์ที่จะใช้งานที่ 20 เมกะเฮิรตซ์ได้สบาย ๆ
สำหรับความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์นั้น ทางยุโรปก็ได้มุ่งมั่นที่จะเปิดให้บริการเทคโนโลยี 4G กันภายใต้ความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งรายละเอียดและเวลาที่แน่นอนก็จะขึ้นกับแต่ละประเทศ เช่น ในประเทศสวีเดนได้เปิดประมูลกันสำเร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 โดยผู้ชนะการประมูลที่ได้ความถี่นี้ไปก็คือ Telia Sonera, Telenor, Tele2, H3G และ Intel Capital ติดตามด้วยประเทศนอร์เวย์ และยังมีอิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ให้ความสนใจที่จะทำตามด้วย ซึ่งทาง Telia Sonera ที่ได้รับชัยชนะกับความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์ก็ประกาศที่จะใช้ความถี่นี้กับเทคโนโลยี LTE นั่นเอง
ทางฟากเอเชียนี้ก็ไม่เบา จะว่าไปทาง NTT DoCoMo (เป็นผู้นำในการบุกเบิกเทคโนโลยี LTE เสียด้วยซ้ำ) ได้ประกาศที่จะให้บริการเทคโนโลยี LTE เป็นทางการในปี 2010 อย่างชัดเจน และขณะนี้ก็เป็นหัวเรือหลักในการทำการทดสอบเทคโนโลยีนี้บนความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ และทางด้านหน่วยงานรัฐที่จัดสรรความถี่ให้กับญี่ปุ่นก็ไม่รอช้าที่จะอนุมัติความถี่ 1.5 กิกะเฮิรตซ์ให้ใช้งานด้วย ถึงแม้ว่ายากที่จะได้ถึง 20 เมกะเฮิรตซ์ แต่ก็มากเพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างได้ และทาง KDDI ก็คงจะไม่ปล่อยให้คู่แข่งทิ้งห่างอย่างแน่นอน ส่วนในเกาหลีใต้เองก็จะนำเทคโนโลยี LTE มาใช้งานบนความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์อีกด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ LTE

จากข้อมูล GSA ในปัจจุบันมีเครือข่ายหรือผู้ให้บริการที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าจะใช้งาน LTE แน่นอนทั้งหมดมากกว่า 45 เครือข่ายใน 23 ประเทศ ซึ่งหากแจกแจงเป็นรายละเอียดออกมาแล้วจะมีทั้งหมด 16 เครือข่ายได้กำหนดแผนไว้ว่าจะให้บริการ LTE อย่างเป็นทางการในปี 2010 อีก 35 เครือข่ายคาดการณ์หรือกำหนดแผนการเอาไว้ในปี 2011-2012 ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 กำหนดการของแต่ละเครือข่ายในการเปิดให้บริการ LTE (ที่มา: GSA)
ซึ่งแผนการของแต่ละเครือข่ายนั้นจะมีรายละเอียดหรือความถี่ที่ใช้งานแตกต่างกันไป เช่น Verizon ในสหรัฐอเมริกาจะใช้งานความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะทำการทดสอบในเมืองบอสตันและเมืองซีแอตเทิลเป็นจำนวน 20 สถานีฐาน และเปิดให้บริการจริงประมาณปลายปี 2010 และจะวางเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2013 ส่วน Telia Sonera ในสวีเดนก็วางแผนที่จะใช้งานความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์ โดยจะเปิดให้บริการในกรุงสต็อกโฮล์มในปี 2010
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งระบบ 3G ประสบความสำเร็จอย่างมากและอิ่มตัวแล้ว ก็จะมีทั้ง NTT DoCoMo, eMobile, Softbank และ KDDI จะเปิดให้บริการ LTE ทั้งหมด โดย DoCoMo และ Softbank จะใช้ความถี่ 1.5 กิกะเฮิรตซ์ ในขณะที่ KDDI จะใช้ทั้งความถี่ 1.5 กิกะเฮิรตซ์ และ 800 เมกะเฮิรตซ์ ส่วน eMobile จะใช้ความถี่ 1.7 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งการให้ข่าวก็มีการเกทับกันเล็กน้อยเมื่อ DoCoMo วางแผนที่จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทาง eMobile ก็ประกาศที่จะให้บริการในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ก็คงจะต้องดูต่อไปละครับว่าจะได้เห็นโฉมหน้ากันจริง ๆ ในเดือนไหนแน่

ครับ...ผู้อ่านก็ได้รู้จักและรับทราบความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยี LTE กันไปแล้วนะครับ ถ้ามีโอกาสผู้เขียนจะนำความเคลื่อนไหวหรืออาจจะนำเทคโนโลยีเด่น ๆ ของ LTE มาเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ ก็คงจะต้องมาลองจับตาดูกันว่าเทคโนโลยี 4G นี้จะไปได้ไกลเพียงใด

Credit : http://www.mvt.co.th/viewnews.php?cid=3&nid=380&page=4


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น