2.11.2558

VoIP

VoIP : Voice over IP



เป็นการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายอื่นๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตโพรโทคอล สัญญาณเสียงVoice จะถูกตัดแบ่งเป็นแพ็คเก็ตPacket วิ่งผ่านไปบนโครงข่ายที่ใช้สำหรับการสื่อสารข้อมูลทั่วไป แทนการใช้วงจรเฉพาะตามวิธีการสื่อสารในระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิม เปรียบได้กับการให้รถยนต์วิ่งแทรกกันได้ตามช่องว่างที่มีอยู่ของถนน แทนการให้รถยนต์คันเดียวจองถนนวิ่งแบบผูกขาด ข้อดีของวอยซ์โอเวอร์ไอพีก็คือการสามารถใช้โครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถให้บริการได้ในอัตราค่าบริการที่ถูกลงมาก

         การใช้งาน
ในการใช้บริการวอยซ์โอเวอร์ไอพี ผู้ใช้บริการจะต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก่อน หลังจากนั้น สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ซอฟท์โฟน และไมโครโฟนกับหูฟัง เพื่อพูดคุยกับปลายทางได้ ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า อะนาล็อกเทเลโฟนอะแด็ปเตอร์ เข้ามาแทนการใช้คอมพิวเตอร์ ต่อกับอินเทอร์เน็ต และใช้เครื่องโทรศัพท์อะนาล็อกที่ใช้งานตามบ้านหรือสำนักงานทั่วไปในการโทรศัพท์แบบวอยซ์โอเวอร์ไอพีได้ ทำให้ได้รับความสะดวก และความรู้สึกไม่แตกต่างจากการใช้โทรศัพท์แบบดั้งเดิม
การใช้งานวอยซ์โอเวอร์ไอพี สามารถใช้งานได้ทั้งในการโทรศัพท์ถึงปลายทางที่เป็นวอยซ์โอเวอร์ไอพีเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการเก็บค่าบริการ แต่ทั้งสองข้างจะต้องออนไลน์พร้อมกัน หรือจะโทรไปยังปลายทางที่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ปกติ ทั้งโทรศัพท์ประจำที่หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้ ในกรณีนี้ จะต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกของบริการและชำระค่าบริการล่วงหน้า แต่ค่าบริการจะถูกกว่าการโทรศัพท์ปกติมาก
จุดด้อยของVoIP
จุดด้อยของวอยซ์โอเวอร์ไอพีก็คือ ในบางกรณีคุณภาพเสียงอาจจะไม่ดีเท่าโทรศัพท์ปกติ และอาจจะมีการดีเลย์หรือการที่สัญญาณเสียงเดินทางมาช้า ทำให้พูดสวนกันไม่ได้ถนัด ต้องรอให้แต่ละฝ่ายพูดให้จบก่อนจึงจะพูดได้ แต่ปัญหานี้ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนแทบจะไม่มีความแตกต่างอีกต่อไป ข้อเสียอีกประการหนึ่งก็คือ โทรศัพท์วอยซ์โอเวอร์ไอพี จะใช้งานไม่ได้เมื่อไฟฟ้าดับ หรืออินเทอร์เน็ตเกิดขัดข้อง

อนาคตของVoIP
วอยซ์โอเวอร์ไอพี หรือที่มักจะเรียกกันย่อๆว่าวอยซ์ จะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่ได้รับปรับปรุงและค่าใช้จ่ายที่ถูก จนในที่สุดอาจจะกลายเป็นบริการฟรี เช่น เดียวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตอื่นๆ เช่น การสืบค้นเว็บไซต์ การใช้อีเมล เพราะอันที่จริงก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ผู้ใช้บริการเพียงแต่จ่ายค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น
เนื่องจากในปัจจุบัน วอยซ์โอเวอร์ไอพี ไม่มีหมายเลขของตัวเอง ได้มีความพยายามที่จะสร้างเลขหมายโทรศัพท์สำหรับวอยซ์โอเวอร์ไอพีที่ใช้งานได้ทั่วโลก เรียกว่า อีนัม (ENUM) ซึ่งถ้าได้มีการยอมรับแพร่หลาย เราก็จะมีหมายเลขนี้ติดตัวเราไปได้ทุกที่ทั่วโลก เพียงแต่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถติดต่อกันได้โดยกดหมายเลขอีนัมคล้ายๆ กับโทรศัพท์ในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ถ้าโครงข่ายไว-ไฟ หรือ ไวแม็กซ์ มีการขยายครอบคลุมมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านไว-ไฟ หรือ ไวแม็กซ์ ที่สามารถใช้วอยซ์โอเวอร์ไอพีได้ ซึ่งจะมีความสามารถสูงกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีแบนด์วิดธ์ที่กว้าง การใช้วีดีโอโฟน จะกลายเป็นมาตรฐานทั่วไป ในปัจจุบัน ก็เริ่มมีการวางตลาดเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นโทรศัพท์ไว-ไฟในตัวบ้างแล้ว


VoIP คืออะไร
 VoIP ย่อมาจาก Voice over Internet Protocol คือการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับการโทรศัพท์ผ่านทางเครือข่าย Internet  ซึ่งมีข้อดีอันดับแรก ๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโทรได้ ไม่ว่าจะเป็นการโทรภายในประเทศ  หรือการโทรระหว่างประเทศก็ตาม เพราะการโทรศัพท์ผ่านทางระบบ Internet นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานผ่านทางชุมสายโทรศัพท์  ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายของส่วนที่ให้บริการด้วย 
     VoIP นั้นเป็นการประยุกต์การส่งข้อมูลผ่าน Internet มาใช้งาน  ซึ่งโดยปกติการใช้งาน Internet   จะเป็นการใช้สัญญาณข้อมูลเพียงอย่างเดียว  แต่สำหรับการใช้งาน VoIP นั้นจะเป็นการนำเอาสัญญาณเสียงมารวมเข้ากับสัญญาณข้อมูล เพื่อส่งผ่านไปยังระบบเครือข่ายผ่านทาง Protocol l ที่ใช้สำหรับอินเทอร์เน็ตก็คือ  Internet Protocol  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า IP  ซึ่งตามปกตินั้น IP  จะใช้สัญญาณข้อมูลเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยี VoIP  ที่ทำให้ส่งสัญญาณเสียงได้ ตัวอย่างผู้ให้บริการ VoIP ในประเทศไทย เช่น บริษัท แอดวานซ์ เทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด

การใช้เทคโนโลยี VoIP รูปแบบต่าง
1. คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปยัง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ( PC to PC )
2. คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปยัง โทรศัพท์พื้นฐาน ( PC to Phone )
3. จากเครื่องโทรศัพท์สู่เครื่องคอมพิวเตอร์ (Phone-to-PC) 
4. โทรศัพท์กับโทรศัพท์ ( Telephony )

ประโยชน์ที่ได้รับ จาก VoIP
1. ลดค่าใช้จ่าย 
2. เพิ่มความยืดหยุ่นในการติดต่อสื่อสาร 
3. จัดการระบบเครือข่ายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเครือข่ายการติดต่อสื่อสารทั้งหมด สามารถยุบรวมกันให้เหลือเพียงเครือข่ายเดียวได้ อีกทั้งในกรณีที่มีการโยกย้ายของหน่วยงานหรือพนักงาน การจัดการด้านหมายเลขโทรศัพท์และอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินสายสัญญาณใดๆขึ้นมาใหม่
4. รองรับการขยายตัวของระบบในอนาคต หากในอนาคตองค์กรขยายตัวใหญ่ขึ้น VoIP สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มมากขึ้นในทันทีโดยการเพิ่ม Virtual User เข้าไปในระบบเท่านั้นเอง
5. ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและจัดการระบบ (Reduce Operating Expenses) เนื่องจากใช้ซอฟต์แวร์ในการจัดการ ทำให้ VoIP นั้นง่ายในการจัดการและบำรุงรักษา
6. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Increase Productivity) พนักงานสามารถส่งเอกสารผ่านเครือข่ายควบคู่ไปกับการสนทนา หรืออาจจัดการประชุมออนไลน์(Conference Call) ทั้งภาพและเสียง และแม้กระทั่งส่งเอกสารการประชุมให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ผ่านทางเครือข่ายได้อีกด้วย
7. ใช้ร่วมกับการสื่อสารไร้สายได้ ทำให้อุปกรณ์สื่อสารไร้สายต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือหรือPDA สามารถติดต่อผ่าน VoIP เข้ามาในเครือข่ายขององค์กรได้
8. เพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อกับลูกค้า (Improved Level of Services) โดยใช้ความสามารถของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ของ VoIP เช่น Click-to-talk เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อกับลูกค้า

-----------------------------------------

Voice over Internet Protocol (VoIP)
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อินเทอร์เน็ตใช้โปรโตคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol) ในการสื่อสาร โดยข้อมูลที่จะทำการส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังจุดหมายปลายทางนั้นจะถูกแตกออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่เรียกว่า “แพ็กเก็ต” โดยที่โปรโตคอล TCP จะทำหน้าที่ในส่วนนี้ และโปรโตคอล IP จะทำหน้าที่ในการส่งผ่านแพ็กเก็ตข้อมูลไปตามเส้นทางต่าง ๆ ผ่านทางเราเตอร์จนถึงจุดหมายปลายทาง และโปรโตคอล TCP ที่ปลายทางก็จะทำหน้าที่ในการประกอบแพ็กเก็ตย่อย ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันให้เหมือนข้อมูลต้นฉบับก่อนที่จะทำการส่งที่ต้นทาง
ใน VoIP นั้น หลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้กับแพ็กเก็ตของข้อมูลที่มีลักษณะเป็นเสียง (voice) ทำให้สามารถโทรศัพท์ผ่านทางระบบเครือข่าย โดยสามารถใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์ ซึ่งการใช้งาน VoIP ก็มีตั้งแต่การต่อโทรศัพท์ถึงจุดหมายปลายทางที่เป็น VoIP เช่นเดียวกัน หรืออาจเป็นโทรศัพท์ทั่วไปทั้งโทรศัพท์บ้าน สำนักงาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแม้แต่โทรศัพท์ทางไกล หรือทางไกลระหว่างประเทศ และการใช้งาน VoIP ก็สามารถทำได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์แบบต่าง ๆ โดยการเชื่อมต่อผ่านโมเด็ม และจากโทรศัพท์แบบทั่วไปโดยการเชื่อมต่อผ่าน Adaptor ดังแสดงในรูปที่ 1
รูปที่ 1 ระบบ VoIP (Source: www.fcc.gov)
จากรูปที่ 1 ข้างต้น ในกรณีที่ใช้งานผ่านทางเครื่องโทรศัพท์ สัญญาณเสียงที่เป็นอนาล็อก (Analog) จากโทรศัพท์จะถูกแปลงให้เป็นสัญญาณดิจิตอล (Digital) ในรูปของ Voice Packet โดย Phone Adaptor เพื่อทำการส่งผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และจะมีการแปลงสัญญาณกลับอีกครั้งที่ปลายทาง แต่ในกรณีที่มีการใช้งานผ่านทางคอมพิวเตอร์โดยตรงผ่านทางไมโครโฟน สัญญาณเสียงก็จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปของ Voice Packet จากเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วส่งผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกันกับการส่งข้อมูลทั่วไป (Data Packet) แต่จะใช้โปรโตคอล UDP (User Datagram Protocol) แทนโปรโตคอล TCP เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงในการสื่อสารที่ราบเรียบขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าทุก ๆ Voice Packet ที่ส่งออกไปจะไปถึงจุดหมายปลายทางก็ตาม

VoIP และ Internet Phone Calls
ด้วยหลักการและโปรโตคอลที่ใช้ในการสื่อสารที่เหมือนกันระหว่าง VoIP และ Internet Phone Calls โดยเป็นการสื่อสารผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงทำให้เกิดการเข้าใจว่าทั้ง VoIP และ Internet Phone Calls เป็นสิ่งเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดทางเทคนิคอยู่พอสมควร โดยเฉพาะ VoIP ที่ใช้กันในระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับความแตกต่างระหว่าง Internet TV และ IPTV
Internet Phone Calls ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะในการสื่อสารเช่นเดียวกันกับ Internet TV ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะนั้น มีการใช้งานที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพ็กเก็ตข้อมูลที่ส่งออกไปนั้นอาจจะไปถึงหรือไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางก็ได้ ซึ่งก็คงไม่ใช่ปัญหาหากเป็นการใช้งานที่ไม่ต้องการคุณภาพเท่าใดนัก แต่สำหรับ VoIP แล้ว คุณภาพของสัญญาณและคุณภาพการบริหารเป็นสิ่งที่กำหนดได้โดยผู้ให้บริการระบบ ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายเช่นเดียวกันกับ IPTV  ดังนั้น VoIP จึงมีคุณภาพของสัญญาณและเสียงที่ดีกว่าและเป็นที่มาของการใช้งานอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

รูปแบบของ VoIP สำหรับธุรกิจ
สำหรับธุรกิจแล้ว ระบบโทรศัพท์หมายถึงอุปกรณ์จำนวนมากเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และเชื่อมต่อทั้งองค์กรเข้ากับระบบโทรศัพท์ขั้นพื้นฐานหรือ PSTN (Public Switched Telephone Network) ซึ่งอุปกรณ์นั้นก็คือระบบตู้สาขาหรือ PBX (Private Branch Exchange) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมคู่สายเข้า-ออก ซึ่งรวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ประกอบด้วย การโอนสาย การพักสาย หรือแม้แต่การประชุมทางโทรศัพท์  ในระบบ VoIP ก็ต้องการระบบตู้สาขาเช่นกันโดยใช้ระบบตู้สาขาที่เรียกว่า IP PBX ที่มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับระบบตู้สาขาโทรศัพท์ทั่วไป แต่ IP PBX ก็มีจุดด้อยในด้านต่าง ๆ เช่น 
        • ต้นทุน การซื้อหา IP PBX มาไว้ใช้งานถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาด ขีดความสามารถ และยี่ห้อ
          • 
อุปกรณ์เสริมพิเศษ ต้นทุนของการใช้ระบบตู้สาขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ราคาของตู้สาขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการซื้อหาเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ระบบเครือข่ายเสริมอีกจำนวนหนึ่ง
          • 
ความล้าสมัย/ตกรุ่น เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบทั่วไปที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  IP PBX ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะสามารถอัพเกรดได้เช่นเดียวกันกับเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ก็ยังคงมีต้นทุนในการอัพเกรดระบบ
          • 
ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เทคโนโลยีที่ใช้ใน IP PBX มีความซับซ้อน ดังนั้นการใช้งานหรือการบริหารจัดการต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่มีบุคลากรที่ดูแลตรงส่วนนี้เป็นของตนเอง และถึงแม้ว่าผู้ผลิตบางรายเสนอบริการเสริมในการดูแลและบริหารจัดการระบบตู้สาขา แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการซื้อหาอุปกรณ์
ด้วยข้อด้อยดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้มีการคิดค้นและนำเสนอบริการตู้สาขาที่เรียกว่า Hosted IP PBX ซึ่งสามารถให้บริการและมีฟังก์ชั่นการใช้งานแก่ลูกค้าตามต้องการ โดยที่ผู้ให้บริการระบบ VoIP เป็นผู้ครอบครอง ดูแลบริหารจัดการ และอัพเดทระบบ โดยมีการคิดค่าเปิดใช้บริการเริ่มต้นและค่าบริการรายเดือน ซึ่ง Hosted IP PBX มีข้อดีดังนี้
          • ต้นทุนต่ำหรือไม่มีต้นทุน จากการที่ไม่ต้องซื้อหา IP PBX ด้วยตนเองจึงทำให้ไม่มีต้นทุนตรงส่วนนี้ และผู้ให้บริการ IP PBX บางรายอาจมีบริการพิเศษที่ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้ระบบโทรศัพท์เดิมที่มีอยู่ เพียงแต่ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ดีขึ้น
          • 
ค่าใช้จ่ายที่สามารถคาดการณ์ได้ ค่าบริการรายเดือนอาจมีการคิดคำนวณที่แตกต่างกันตามแต่ผู้ให้บริการ แต่ก็ยังคงมีวิธีการคิดคำนวณที่ชัดเจน และสามารถคาดการณ์ได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบโทรศัพท์เกิดขึ้น เช่น การลดหรือเพิ่มจำนวนของผู้ใช้งานในระบบ
          • 
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เนื่องจากผู้ให้บริการ VoIP เป็นเจ้าของอุปกรณ์ IP PBX ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ เช่น การซ่อมบำรุง และการอัพเกรดชิ้นส่วนอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง

          • 
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เนื่องจากผู้ให้บริการ VoIP เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการอุปกรณ์ การเปลี่ยนแปลงตามลักษณะการใช้งาน เช่น การเพิ่มผู้ใช้งานในระบบ หรือการเปลี่ยนหมายเลขต่อภายใน อาจสามารถกระทำได้โดยผ่านทาง Web Interface

คุณภาพของเครือข่ายและคุณภาพเสียงสำหรับ VoIP
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาสำหรับการเปลี่ยนมาใช้ VoIP คือ ความสามารถของระบบเครือข่ายในการส่งแพ็กเก็ตข้อมูลได้อย่างทันเวลา ไม่สะดุด ซึ่ง TCP/IP ไม่ได้รับประกันว่าทุกแพ็กเก็ตข้อมูลที่ส่งออกไปจะไปถึงจุดหมายปลายทางเสมอ  แม้แต่เราเตอร์เอง ก็สามารถปรับตั้งค่าให้ละทิ้งแพ็กเก็ตส่วนเกินเพื่อบรรเทาปัญหาการคับคั่งของแพ็กเก็ต (packet congestion) หรืออุปสรรคอื่น ๆ อีก ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
          • Packet Lost โดยการวัดจากเปอร์เซ็นต์ของแพ็กเก็ตที่ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง หากสูงกว่า 3% ถือว่าเครือข่ายนั้นไม่เหมาะสมกับการใช้งาน VoIP เนื่องจากอาจจะมีปัญหาสัญญาณเสียงขาดตอน ซึ่งปัญหา packet loss นี้ จะเพิ่มมากขึ้นตามลักษณะการใช้งานของระบบเครือข่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจุดที่มีการ overload ของสัญญาณ

          • Jitter คือประเด็นด้านคุณภาพของระบบเครือข่ายที่วัดจากความแปรปรวนของเวลาที่ใช้ในการเดินทางของแพ็กเก็ตที่เป็นสัญญาณเสียง (Voice Information Packet) ซึ่งอุปกรณ์ VoIP ที่ฝั่งผู้รับสามารถบรรเทาปัญหานี้ ได้ด้วยการจัดให้แพ็กเก็ตที่ได้รับมารวมตัวกันอยู่ใน jitter buffer ก่อนแปลงเป็นสัญญาณเสียงที่ไม่มีการสะดุดหรือขาดตอน
            Jitter Buffer มีค่าความยาวเป็นมิลลิวินาที (Millisecond) หรือที่เรียกว่า Jitter Buffer Depth ซึ่งควรมีค่าประมาณ 2 เท่าของขนาดของความแปรปรวนของระยะเวลาในการเดินทางของแพ็กเก็ตหรือ jitter ที่เกิดขึ้นจริงในระบบเครือข่าย หากค่า jitter มากกว่า 50 มิลลิวินาทีแล้ว จะเป็นการยากที่จะได้สัญญาณเสียงที่ราบเรียบ อีกทั้งการใช้ jitter buffer บ่อยครั้ง ก็จะยังผลให้เกิดอาการสัญญาณเสียงขาดหายเป็นช่วง ๆ  ดังนั้นการปรับตั้งค่า Jitter Buffer Depth จึงต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะของระบบเครือข่ายด้วย
          • Latency คือระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางของแพ็กเก็ตจากต้นทางไปยังปลายทาง หากใช้เวลามากกว่า 150-200 มิลลิวินาที อาจเป็นปัญหาสำหรับอุปกรณ์ VoIP ได้ในรูปของเสียงสะท้อนหรือเสียงก้อง และหากมีค่ามากกว่า 400 มิลลิวินาทีอาจมีผลกระทบต่อความชัดเจนของเสียงสนทนา  แต่ทั้งนี้หากการสื่อสารของทั้งระบบเป็นอุปกรณ์แบบดิจิตอลทั้งหมด ปัญหาเรื่องเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนก็จะน้อยมาก

Bandwidth อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดถึงสำหรับ VoIP
ในการนำ VoIP มาใช้ในระบบเครือข่ายนั้นจะต้องมี bandwidth ที่เพียงพอที่จะส่งผ่านแพ็กเก็ตของสัญญาณเสียง ซึ่งแบ่งออกเป็น Available Bandwidth และ Raw Bandwidth (หรือ Total Bandwidth) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงปริมาณของข้อมูลที่สามารถส่งผ่านภายในระบบเครือข่าย การตรวจสอบทำได้จากการวัดเปรียบเทียบปริมาณข้อมูลสัญญาณเสียง (voice data) ที่ต้องการและปริมาณข้อมูลที่ระบบเครือข่ายสามารถรองรับได้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ bandwidth ดังนี้
          • Raw Bandwidth เป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการระบบเครือข่ายคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นค่าที่แสดงถึงปริมาณข้อมูลที่ระบบเครือข่ายสามารถรองรับได้ต่อการเชื่อมต่อแต่ละจุด เช่น หากมีเครือข่าย T1 ที่ใช้สำหรับเครือข่ายข้อมูลโดยเฉพาะ นั่นหมายถึงขนาดของ Raw Bandwidth คือ 1.5 Mbits  การเชื่อมต่อแบบ DSL (Digital Subscriber Line) ในบางครั้งก็มีข้อจำกัดในเรื่องของ bandwidth ขารับ (download) และขาส่ง (upload) มีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ความเร็วในการ download 768 Kbits และความเร็วในการ upload 128 Kbits ซึ่งผู้ให้บริการระบบเครือข่ายสามารถบอกได้ถึงขนาดของ bandwidth ที่เพียงพอหรือเหมาะสมสำหรับการใช้งานแบบ voice application
          • คอขวด หรือ Bottleneck เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้รับและผู้ส่งมีขนาดของ available bandwidth ไม่เท่ากัน เช่นการเชื่อมต่อที่ฝั่งต้นทางใช้แบบ T1 แต่การเชื่อมต่อของฝั่งปลายทางใช้แบบ Dial Up ที่ความเร็ว 53 Kbps
          • Codecs ก่อนที่จะทราบว่าระบบเครือข่ายที่มีอยู่จะสามารถรองรับข้อมูลสัญญาณเสียงได้หรือไม่นั้น จะต้องทราบปริมาณของข้อมูลสัญญาณเสียงที่ต้องการใช้งานก่อน โดยสามารถประมาณการณ์ได้จากการนับจำนวนการใช้โทรศัพท์ที่จะใช้ผ่านระบบเครือข่าย คูณด้วยปริมาณของการจราจรทางระบบเครือข่ายต่อการโทรหนึ่งครั้ง หรือที่เรียกว่า traffic-per-call ที่ขึ้นอยู่กับ codec ที่ใช้ โดยที่ codec หมายถึงวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงให้กลายเป็นข้อมูลที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายได้ ดังแสดงในตาราง
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า Codec G.711 ให้คุณภาพเสียงเช่นเดียวกันกับคุณภาพเสียงที่ได้จากระบบโทรศัพท์ทั่วไป แต่ต้องใช้ available bandwidth ถึงประมาณ 80 Kbps ต่อการใช้โทรศัพท์หนึ่งครั้ง ส่วน G.729 ให้คุณภาพเสียงที่เป็นรองจาก G.711 แต่ใช้ available bandwidth เพียงประมาณ 26 Kbps เท่านั้น ต่อการใช้โทรศัพท์ในแต่ละครั้ง

การเลือกติดตั้งระบบ VoIP ระหว่างแบบ In-house หรือใช้บริการจาก Service Provider
ปัจจัยในการเลือกติดตั้งระบบไม่ว่าจะเป็นแบบ In-house หรือแบบใช้บริการจากผู้ให้บริการระบบตู้สาขา (IP Central Exchange: IP Centrex) หรือ Hosted IP PBX นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่แตกต่างกันเฉพาะราย ซึ่งการติดตั้งระบบทั้งสองแบบให้คุณภาพของสัญญาณเสียงที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ IP Centrex ผู้ใช้บริการไม่ต้องลงทุนในอุปกรณ์ระบบเองยกเว้นเครื่องโทรศัพท์ อีกทั้งระบบตู้สาขาก็ตั้งอยู่ที่ศูนย์ของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่มีต้นทุนเริ่มแรกที่สูงมากนัก ผู้ให้บริการระบบตู้สาขาจะคิดค่าบริการตามสัญญาที่ตกลงหรืออาจคิดค่าบริการเพิ่มเติมตามแต่บริการเสริมที่ต้องการ อีกทั้งการเลือกผู้ให้บริการก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยที่ระยะทางหรือทำเลที่ตั้งของผู้ให้บริการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อคุณภาพในการให้บริการ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือชื่อเสียงด้านคุณภาพความน่าเชื่อถือและฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีให้ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบความปลอดภัย (security) ก็เป็นสิ่งที่กำลังได้รับการใ้ห้ความสำคัญมาก
หากต้องการที่จะซื้อหาครอบครองตู้สาขาเอง ตู้สาขาจะติดตั้งอยู่ในพื้นที่ของผู้ใช้บริการ แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือนกันทุกประการโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของตู้สาขา การซื้อหาครอบครองตู้สาขาเองเป็นการลงทุนเริ่มแรกที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าผู้ใช้บริการระบบวางแผนที่จะใช้ระบบ VoIP ในระยะยาว (นานกว่า 5 ปี) การตัดสินใจที่จะเป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้สาขาเองก็อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบตู้สาขาที่สามารถอัพเกรดเพื่อให้รองรับถึงระบบในอนาคตหรือขยายขีดความสามารถตามขนาดขององค์กรที่ขยายตัวขึ้น แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าการเป็นเจ้าของตู้สาขาเองนอกจากจะเป็นการลงทุนเริ่มแรกที่สูงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายข้างเคียงตามมาในระยะยาวอีก เช่น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ค่าจ้างบุคลากรด้านไอทีที่ชำนาญพอที่จะรองรับหรือแก้ไขขัดข้องเมื่อใช้งาน ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบจ้างประจำหรือว่าจ้างมืออาชีพจากภายนอก (Outsource) เป็นครั้งคราว อีกทั้งยังอาจมีค่าใช้จ่ายในการกู้ระบบที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือจากวินาศภัยในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะต้องนำมาพิจารณาในต้นทุนการครอบครองระบบโดยรวม (Total Cost of Ownership: TCO)

ประโยชน์ที่ได้จากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ VoIP
ประโยชน์ที่ได้จากการรวมสัญญาณข้อมูลและสัญญาณเสียงเข้าเป็นระบบเครือข่ายเดียวกัน สามารถเป็นได้หลากหลายรูปแบบตามแต่ลักษณะขององค์กรและจุดประสงค์ของผู้ใช้บริการ แต่โดยทั่วไปพอสรุปได้ดังนี้
  • การบริหารจัดการระบบเครือข่ายที่มีความซับซ้อนโดยรวมลดลงเนื่องจากระบบสัญญาณข้อมูลและสัญญาณเสียงถูกรวมเข้าเป็นระบบเดียวกัน
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบที่รวมระบบ VoIP และ Data เข้าไว้ด้วยกัน
  • การรวมสัญญาณเสียง (voice) และสัญญาณข้อมูล (data) เข้าไว้ด้วยกันโดยใช้สื่อสัญญาณ (medium) ร่วมกันทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการให้บริการ (service) หรือ application
  • Bandwidth ที่ต้องการใช้สำหรับการใช้โทรศัพท์สามารถลดขนาดลงได้จากการเลือกใช้ Codec ที่เหมาะสมกับระบบเครือข่าย เพื่อให้ได้คุณภาพของสัญญาณเสียงที่ดีและไม่สิ้นเปลือง bandwidth เกินความจำเป็น
          VoIP ดูจะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับรูปแบบการสื่อสารในอนาคตสำหรับธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการหันเหมาสนใจการใช้ระบบ VoIP ทดแทนหรือเสริมกับระบบโทรศัพท์เดิมที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง  แต่อย่างไรก็ตามระบบการสื่อสารถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรที่ต้องพิจารณาและศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสนใจลงทุน
VoIP มีข้อดีมากมายนับตั้งแต่ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารขององค์กร ซึ่งเป็นข้อดีและสิ่งจูงใจที่โดดเด่น ไปจนถึงการเพิ่มผลิตผลขององค์กร และความสามารถในการร่วมปฏิบัติการพร้อม ๆ กันจากหลาย ๆ ส่วนงานที่กระจายอยู่กันในต่างทำเลที่ตั้ง แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา นับตั้งแต่ความจำเป็นที่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมพิเศษระบบตู้สาขา ระบบเครือข่ายที่จะมารองรับ รวมถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบ VoIP ซึ่งผู้ใช้บริการต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน รวมถึงการเลือกระหว่างการซื้อหาครอบครองรวมถึงบริหารจัดการระบบเองหรือใช้บริการจากผู้ให้บริการและบริหารจัดการระบบแบบครบวงจร ซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เพียงแต่ต้องเป็นข้อดีที่ต้องการและข้อด้อยที่ยอมรับได้เท่านั้นเอง

ที่มา: Micro Computer, Vol.26, No.271, February 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น