11.25.2557

Telecommunication

Telecommunication : การสื่อสารโทรคมนาคม

หมายถึง การติดต่อสื่อสารด้วยการรับส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างตัวประมวลผล โดยผ่านสื่อกลางที่เชื่อมต้นทางและปลายทางที่ห่างกัน โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ ตามกฎเกณฑ์ หรือระเบียบวิธีการที่กำหนดขึ้นในแต่ละอุปกรณ์

Credit : http://www.thaiall.com/mis/mis08.htm

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


โทรคมนาคม (Telecommunication) ได้รับการนำเสนอไว้ในแหล่งข้อมูลหรือจากการนิยามของผู้รู้และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิค ประวัติศาสตร์และภาษาจำนวนมาก เช่น
               1) คำว่า “โทร” มีพื้นฐานมาจากคำว่า “tele” ในภาษากรีก หมายถึง “ไกลออกไป (far away)” และคำว่า “คมนาคม (Communication)” มาจากภาษาละตินพื้นฐานของคำ “Communicare” หมายถึง การใช้งานร่วมกับผู้อื่น ความหมายรวมพื้นฐานจึงได้รับการนำเสนอว่า “การสื่อสารที่ครอบคลุมระยะทางที่ไกลออกไป” [๑]

              2) จากคำศัพท์มาตรฐานของสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ให้คำนิยามโทรคมนาคมว่า “การสื่อสัญญาณระยะทางไกลเช่น โดยใช้โทรเลข วิทยุหรือโทรทัศน์ เป็นต้น (the transmission of signals over long distance, such as by telegraph, radio, or television)”[๒]

             3) พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุว่า “โทรคมนาคม” หมายถึง การส่ง การกระจาย หรือการรับภาพ เครื่องหมาย สัญญาณ ข้อเขียน เสียง หรือการกระทำให้เข้าใจด้วยวิธีใดๆ โดยอาศัยระบบสาย วิทยุสื่อสารหรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ [๓]

              4) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ได้ให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อคำว่าโทรคมนาคมในปี พ.ศ.๒๔๗๕(ค.ศ.1932)ว่า“การสื่อสารใดๆ ไม่ว่าจะด้วยโทรเลขหรือโทรศัพท์ เพื่อส่งสัญลักษณ์ สัญญาณ ข้อความ ภาพและเสียงใดๆ ทางสายส่งคลื่นวิทยุ หรือระบบอื่นๆ หรือกระบวนการส่งสัญญาณทางไฟฟ้าหรือการมองเห็น(เสาส่งสัญลักษณ์)ต่าง ๆ(any  telegraph or telephone
communication of  signs, signals, writings, images and sound of any nature , by wire, radio, or other system or processes  of electric or
visual (semaphore) signaling)”

                 ต่อมาในภายหลังไอทียู (ITU) ได้ปรับเปลี่ยนคำนิยามใหม่เป็น “การส่งแพร่กระจายหรือการรับสัญลักษณ์ สัญญาณ ข้อความ ภาพและเสียงใดๆหรือหมายถึงกระบวนการที่คิดค้นขึ้นเพื่อการใช้งานคุณสมบัติปกติของสายส่งคลื่นวิทยุ การมองเห็น หรือระบบทางแม่เหล็กไฟฟ้า(any transmission,
emission, or reception of signs, writings, images, and sounds; or intelligences of any nature by wire, radio, visual, or other electromagnetic system)” [๔]
               5) คำว่า “Telecommunication” ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเป็นทางการ โดยพื้นฐานมาจากหนังสือของเอดวาร์ด เอสโทนี (Edouard Estaunie) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1862-1942) โดยหนังสือดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส “Traité pratiqus de télécommunication electrique (télégraphie-téléphonie)” ซึ่งได้นิยามความหมายของคำว่าโทรคมนาคมไว้อย่างมีข้อจำกัด คือ “การแลกเปลี่ยนข่าวสารด้วยสัญญาณทางไฟฟ้า (Information exchange by means of electrical signals)” อันเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นหลักสำหรับระบบการสื่อสารในสมัยนั้น [๔] (ซึ่งยังมิได้มีการใช้สัญญาณประเภทอื่นเช่น แสงเพื่อการสื่อสาร)
              6) คำจำกัดความที่เด่นชัดของการรวบรวม“ประวัติโทรคมนาคมโลก (The Worldwide History of Telecommunications)” โดยแอนทัน ฮวร์ดเดอร์มัน (Anton A.Huurdeman) นิยามให้โทรคมนาคมคือ“เทคโนโลยีแขนงหนึ่งซึ่งใช้ช่วยลดระยะทางระหว่างทวีป ประเทศหรือระหว่างบุคคล” [๔]

               7) พจนานุกรมเคมบริดจ์ แอดวานซ์ เลิร์นเนอร์ (Cambridge Advanced Learner’s Dictionary) ระบุว่า “โทรคมนาคม” หมายถึง “การส่งและการรับข้อความข้ามระยะทาง ตัวอย่างที่เด่นชัดเช่น โทรศัพท์ วิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น” (the sending and receiving of messages over distance, especially by telephone, radio and television.)[๕]

               8) พจนานุกรมคอลลินซ คูบิลด แอดวานซ์ เลิร์นเนอร์ (Collins - Cobuild Advanced Learner’ s English Dictionary 2006 ) ระบุว่า
“โทรคมนาคม” หมายถึง “เทคโนโลยี ของการส่งสัญญาณและข้อความในระยะทางไกลด้วยการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิทยุหรือโทรศัพท์ ”
(Telecommunications is the technology of sending signals and messages over long distances using electronic equipment, for example by radio and telephone.) [๖]

               9) สารานุกรมบริแทนนิกา(Britannica) ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า“วิทยาการและการดำเนินการของการส่งข่าวสารด้วยวิธีการทางแม่เหล็กไฟฟ้า โดยข่าวสารหลากหลายประเภท สามารถส่งผ่านระบบโทรคมนาคมได้ ซึ่งรวมทั้งเสียง และเสียงดนตรี ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ไฟล์ข้อมูลและการประยุกต์อื่นๆ ทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงการส่งข้อมูลทางไกลต่าง ๆ (Science and practice of transmitting information by electromagnetic means. A wide variety of information can be transferred through a telecommunications system, including voice and music, still-frame and full motion pictures, computer files and applications, and telegraphic data.)” [๗]
     
             10) ความหมายจากพจนานุกรมของเวปเสทอร์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ (Merriam - Webster) ให้คำนิยามโทรคมนาคมที่กระชับไว้ว่า “การสื่อสารที่มีระยะทาง(Communication at a distance)” [๘]

    จากความหมายของคำว่าโทรคมนาคมทั้งหมดดังกล่าว เกิดจากความคิด ที่จะกำหนดหรือนิยามอันอยู่บนพื้นฐานของสองมูลเหตุหลัก คือ ทางด้าน “ภาษาศาสตร์” ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดของคำในภาษาท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าของสังคมนั้นๆ ที่อาจแตกต่างกันไปด้วย (เช่น communicare [๑] communicatio [๔] ในภาษาละติน) แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละสังคมและภาษาทั่วไปได้ให้ความหมายถึงนัยที่คล้ายกัน รวมทั้งประเด็นของมูลเหตุ “เทคโนโลยีร่วมสมัย” ที่ปรากฏมีใช้อยู่ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้ความหมายของ “โทรคมนาคม” อาจต้องปรับตามให้ทันสมัยต่อมาในภายหลังด้วย(เช่น ความหมายจาก จ) ที่ยังมิได้รวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่กว่าเข้าไปด้วย) โดยรวมแล้วของความหมายทั้งทางด้าน “ภาษา” และ “เทคโนโลยี” ดังกล่าวนี้สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันให้ครอบคลุมทั้งทางด้านภาษา พื้นฐาน ความหมายและเทคโนโลยีร่วมสมัยหรือเทคโนโลยีที่ได้รับการคาดการณ์สำหรับประยุกต์ใช้กับระบบโทรคมนาคมแล้วด้วย ดังนั้นสารานุกรมโทรคมนาคมไทยฉบับ “ปั้นให้เกิด”  ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ นำเสนอ
ความหมายของคำว่า “โทรคมนาคม” คือ
             
      “การสื่อสารที่ช่วยลดระยะทางระหว่างบุคคลอุปกรณ์หรือระบบอัตโนมัติที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการส่งแพร่กระจายหรือนำพาด้วยวิธีการทางกลไฟฟ้าแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ทางควอนตัมสำหรับการสื่อสัญญาณ สัญลักษณ์ ข้อความ เสียง ภาพหรือสื่อประสมให้ผู้รับ หรือระบบสามารถเข้าใจได้”
[๑] Göran Binersson, Principles of Lightware Communications, Wiley, England, 1996.
[๒] Jame Radatz, The IEEE Standard Dictionary of Electrical and Electronics Frames, 6 th ed., IEEE, New York, 1996
[๓] ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖.
[๔] Anton A. Huurdeman, The WorldWide History of Telecommunications, John Wiley & Sons, New Jersey, 2003
[๕] Cambridge Advanced Learner's Dictionary, Cambridge University Press, 2003
[๖] Collins Cobuild Dictionary Advanced Learner’s English Dictionary, HarperCollins Publishers, 1997 and 2006.
[๗] Encyclopedia Britannica, USA: Encyclopedia Britannica Incorporated, 2003.
[๘] Merriam-Webster's Dictionary of English Usage, USA: Merriam-Webster, 1994.
[๙] IEEE Communications Society, A Brief History of Communications, USA: IEEE Communications Society, 2002.

4 ความคิดเห็น: