2.27.2558

Femtocell

Femtocell คือ เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับสถานีฐานขนาดเล็ก 

Credit : http://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect

------------------------------------

มารู้จัก Femtocell สถานีฐานมือถือขนาดเล็ก ตัวช่วยสำหรับบ้าน สำนักงานและอาคารสูง
อาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยนี้ เป็นยุคที่การใช้งานอุปกรณ์สื่อสารจำพวกมือถือ แท็บเล็ตในการสื่อสารข้อมูลหรือดาต้า (data) สูงขึ้นจนแทบจะเรียกว่า ผู้คนใช้ดาต้าเดือนๆนึงจะมากกว่าการใช้การสื่อสารด้วยการโทรออกรับสายแบบวอยส์ (Voice) เข้าไปทุกที ยิ่งความต้องการการใช้งานดาต้ายิ่งมาก ความหนาแน่นในการใช้เครือข่ายของระบบมือถือก็ยิ่งมากขึ้น
พื้นฐานระบบมือถือ
โทรศัพท์มือถือที่เราๆใช้งานกันในปัจจุบัน ทั้ง 2G (GSM), 3G (WCDMA,UMTS,HSPA) หรือจะ 4G (LTE) มีการใช้งานพื้นฐานแบบเซลลูล่าร์ (Cellular) หรือแบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็นพื้นที่เล็กๆ (Cell) มีสถานีฐาน (Base Station) ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลด้วยสัญญาณวิทยุ (Radio Frequency) ที่แบ่งความถี่ออกเป็นช่องๆหรือช่วงคลื่นและมีการนำความถี่กลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ในเซลล์อื่นๆ เพื่อให้การใช้งานความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของการออกแบบและให้บริการนั้น ในระบบๆหนึ่งจะประกอบไปด้วยสถานีฐานมากมาย และมีหลายขนาดตั้งแต่มีพื้นที่ครอบคลุมมากๆในย่านชานเมือง หรือแค่ไม่กี่ร้อยเมตรในย่านเขตเมืองที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น
ปัญหาการใช้มือถือในเขตเมืองและอาคารสูง
 
แม้ผู้ให้บริการ (Operator) จะมีการออกแบบและติดตั้งสถานีฐานให้ครอบคลุมและมากที่สุดแล้ว แต่การใช้งานมือถือในเขตเมืองใหญ่ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นหรือในอาคารสูง ก็ยังอาจเจอปัญหา กล่าวคือ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่มีผู้ใช้มากระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่น อาทิ ย่านธุรกิจ สำนักงาน ย่านที่มีกิจกรรมแล้วคนมารวมตัวเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดการแย่งใช้ช่องสัญญาณ (2G,3G) หรือการกวนกันของสัญญาณ (3G) ในแบบ CDMA (Code Division Multiple Access) ซึ่งเป็นข้อจำกัดทางเทคนิคของการส่งสัญญาณด้วยวิธีนี้ จนส่งผลให้การรับ-ส่งข้อมูลติดขัด หรือผู้ใช้ในอาคารสูงที่ไม่มีการติดตั้งสถานีฐานในอาคาร (In-building Base Station) หรือแม้มีการติดตั้ง แต่ความสูงของอาคาร ทำให้เครื่องมือถือเกิดสามารถรับสัญญาณได้จากสถานีฐานที่ห่างไกลกว่าปรกติหลายสถานีพร้อมๆกัน จนกวนกัน ก็จะพบการติดขัดในการใช้งานได้เช่นกัน แม้วิธีแก้ไขอาจทำได้โดยการเพิ่มสถานีในย่านหนาแน่น หรือติดตั้งสถานีฐานในอาคารแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างปัญหาอาจยังมีอยู่
Femtocell สถานีฐานขนาดเล็ก
 
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ เมื่อการแก้ปัญหาจากการตั้งและส่งสัญญาณจากสถานีฐานขนาดใหญ่เข้าไปอาจไม่ใช่คำตอบ และความต้องการเพิ่มการรองรับการใช้งานโดยเฉพาะการรับส่งข้อมูลในพื้นที่ๆหนึ่งนั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการใช้สถานีฐานขนาดเล็กมากลงไปอีกกว่าสถานีฐานระดับ picocell หรือ smallcell จึงใช้ชื่อว่า Femtocell
Femtocell หรือสถานีฐานขนาดเล็กนี้ ใช้แนวคิดการรับส่งสัญญาณด้วยกำลังส่งต่ำๆ ครอบคลุมแค่ในบริเวณไม่มาก ซึ่งอาจจะเป็นแค่ที่พักอาศัย หรือสำนักงาน ห้องในคอนโด หรือมุมอับๆของอาคารที่สัญญาณจากสถานีฐานภายนอกส่งไปไม่ถึง ถ้าจะพูดให้นึกภาพออกก็คงไม่พ้นต้องยกตัวอย่างแบบ Wifi AP ครับ เพียงแต่ใช้ความถี่และเทคนิคการทำงานแบบระบบมือถือที่ผู้ให้บริการนั้นๆให้บริการ
Femtocell จะสามารถติดตั้งและทำงานได้โดยสะดวกผ่านการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสาธารณะต่างๆ หรือพูดง่ายๆคือเน็ตบ้านเรานี่หล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อด้วย ADSL FTTx หรือ Cable โดยทำการเชื่อมโยงสัญญาณกับผู้ให้บริการที่เราใช้งาน การตั้งค่าไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญหลังๆมีผู้ผลิต Femtocell หลายเจ้าในตลาด ทำให้มีการพัฒนาลูกลักษณ์และฟังก์ชั่นการทำงานเพิ่ม อาทิ เป็นทั้ง Femtocell มือถือและ Wifi AP ในตัวเดียวกันก็มี
 
หลังติดตั้ง Femtocell ในบ้านหรือที่ทำงานของตัวเองแล้ว ผู้ใช้บริการก็จะสามารถใช้งานมือถือได้อย่างสะดวกสบาย สัญญาณชัดและส่งผ่านข้อมูลไม่ติดขัด เพราะเครื่องมือถือจะทำการรับ-ส่งข้อมูลกับ Femtocell ใกล้เคียงโดยไม่ต้องส่งออกไปยังสถานีฐานภายนอกที่แออัดและต้องส่งด้วยกำลังส่งสูง ให้เครื่องร้อนและเปลืองแบตเตอรี่ ทั้งนี้ผู้ใช้ยังสามารถกำหนดได้ว่าใครบ้าง (มือถือเครื่องไหนบ้าง) ที่จะจับใช้งาน Femtocell ของเราได้ หรือเปิดเป็น Public ให้ๆบริการได้กับทุกเครื่องที่อยู่ใกล้ๆ
ในแง่ของผู้ให้บริการ การมี Femtocell ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องการให้บริการข้างต้นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการถ่ายโอนความหนาแน่นบนโครงข่าย (Off-load) ในจุดที่มีการติดตั้งและใช้งาน Femtocell ออกไปให้ไปใช้และให้ข้อมูลวิ่งบนเครือข่ายชนิดอื่น และจะได้มีช่องสัญญาณเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้รายอื่นๆได้มากและคล่องตัวขึ้น จึงถือว่าเป็นผลดีทั้งสองฝ่าย เรียกว่า วิน-วิน ก็ว่าได้
รูปแบบการทำตลาดและใช้งาน Femtocell ของผู้ให้บริการต่างประเทศ
รูปแบบการทำตลาดและการนำ Femtocell มาใช้งานนั้นมีหลายรูปแบบ หลักๆมองได้สองแบบคือ ผู้ให้บริการเป็นผู้ลงทุนและติดตั้ง Femtocell เองในจุดต่างๆ อันนี้ก็จะเหมือนการติดตั้งสถานีฐานทั่วไป ที่ตรงไหนบอดผู้ให้บริการก็เลือกรูปแบบและขนาดของสถานีฐานที่เหมาะสมไปลงและให้บริการ กับอีกแบบหนึ่งคือให้ผู้ใช้เป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ Femtocell Set จากผู้ให้บริการ แล้วเอาไปติดตั้งเอง (ซึ่งไม่ยากเลยครับ แค่มีเน็ตเสียบสายและตั้งค่า ลงทะเบียนนิดหน่อย) โดยกรณีหลังนี้จะเห็นว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนมาออกเงินซื้อไปติดต้องมี ที่สำคัญจะเป็นการขยายจำนวน Femtocell ได้มากและรวดเร็วกว่าการที่ผู้ให้บริการจะไปติดตั้งเองด้วย
ในต่างประเทศ ผู้ให้บริการจึงมีวิธีจูงใจ อาทิ ออกโปรฯให้กับผู้ซื้อ Femtocell ไปติดที่บ้านหรือสำนักงาน จะได้ค่า Air Time หรือค่าโทรถูก ดาต้าถูกกว่าปรกติ หรือแม้แต่โทรฟรีไม่อั้นถ้าโทรผ่าน Femtocell ของตัวเองก็มี ซึ่งน่าสนใจมากครับ ยิ่งในผู้ให้บริการที่มีบริการหลากหลาย อาทิ เป็นทั้ง Operator มือถือ เป็น ISP อินเทอร์เน็ต หรือเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีด้วยแล้ว ยิ่งสามารถสร้างรูปแบบบริการแบบหลายบริการเป็นแรงจูงใจได้อีก
แล้วในประเทศไทยใช้งาน Femtocell ได้หรือยัง?
แน่นอนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อแน่ว่าต้องเกิดคำถามนี้แน่ๆ เพราะจริงๆปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณมือถือและความแออัดต่างๆนั้น ในบ้านเราก็กำลังประสบอยู่ การที่ผู้ให้บริการจะนำ Femtocell เข้ามาใช้งานได้หรือไม่นั้นต้องผ่าน กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลในบ้านเรา โดยตอนนี้ กสทช. ได้อนุญาตให้ผู้ให้บริการในบ้านเรา นำ Femtocell มาใช้ได้แล้ว เพียงแต่การนำมาใช้และติดตั้งนั้นยังต้องทำโดยผู้ให้บริการ ยังไม่อนุญาตมีการเปิดจำหน่ายกับผู้ใช้บริการโดยตรง หรือยังไม่ให้เราๆท่านๆไปหาซื้อมาติดตั้งเองนั่นเองครับ โดยตอนนี้ผู้ให้บริการเองก็ได้มีการติดตั้ง Femtocell ไปแล้วไม่น้อย ในพื้นที่ๆการใช้งานมีปัญหาและคุณสมบัติจะเหมาะกับการใช้ Femtocell
ที่เหลือคือคงต้องรอเวลาที่การใช้งานโมบายดาต้าในบ้านเราจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และ กสทช. อนุญาตให้มีการจำหน่ายและผู้ใช้ซื้อไปติดตั้งได้เองโดยเสรีแบบ wifi AP เมื่อนั้นคงมีลูกเล่นทางการตลาดของค่ายมือถือต่างๆในบ้านเราออกมา รวมถึงเราจะได้ใช้งานเครือข่ายที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าทุกวันนี้ครับ
ตอนนี้ถือว่ามาปูพื้นเรื่องสถานีฐานขนาดเล็กไว้ก่อน โอกาสหน้าจะมาเล่าขยายความต่อถึงความสำคัญอย่างมากในอนาคตของเจ้า สถานีฐานขนาดเล็กนี้ต่อแนวคิดการขยายความจุของระบบ เพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของโมบายดาต้าครับ


-------------------------------

แก้ปัญหาอยู่คอนโดสูงแล้วไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ด้วย AIS 3G Femtocell

เนื่องจากว่าช่วงนี้ต้องทำงานอยู่ที่คอนโด แล้วจำเป็นต้องรับสายลูกค้าอยู่ตลอด แต่ปัญหาของคอนโดชั้นสูงๆ คือสัญญาณโทรศัพท์จะอ่อนมากบางครั้งถึงขั้นที่คุยไม่รู้เรื่องเลย โดนลูกค้าบ่นแทบทุกราย  แจ้งไปทางฝ่ายนิติ ที่ดูแลคอนโดอยู่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ลองถามเพื่อนๆ ที่อยู่คอนโดด้วยกันก็เจอปัญหานี้ทุกคน ทุกค่ายมือถือ ทั้ง AIS, DTAC และ TrueMove
ลองกูเกิ้ลดูก็พบว่า AIS มีอุปกรณ์ที่แก้ปัญหานี้อยู่ ซึ่งจำเป็นต้องต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา และเนื่องจากที่ห้องใช้ ADSL อยู่แล้วก็เลยไม่ใช่ปัญหาอะไร เจ้าอุปกรณ์ตัวนั้นก็คือ Femtocell ซึ่งทาง AIS ให้เอามาใช้ได้ฟรี  ก็เลยโทรเข้าไปทาง Call Center เพื่อแจ้งปัญหานี้ไป จากนั้นก็จะมีวิศวกรของทาง AIS ติดต่อกลับมาว่าปัญหามันคืออะไร สอบถามข้อมูลส่วนตัว และแจ้งเงื่อนไขในการขออุปกรณ์ Femtocell มาใช้งาน
ตอนนั้นที่เขาเสนอมาก็คือ
  1. ถ้าเป็นเบอร์แบบรายเดือน และต้องสมัครแพกเกจเสริมอะไรซักอย่างนี่แหละจำชื่อไม่ได้ละ เดือนนึงตกประมาณ 500 บาท (แต่ของเพื่อนที่เป็นเบอร์แบบ Serenade กลับสามารถขออุปกรณ์มาใช้ได้เลย ไม่ต้องสมัครแพกเกจเสริม)
  2. ถ้าเป็นเบอร์แบบเติมเงิน ต้องเติมเงินเข้าระบบ 4,500 บาท (เราเลือกเงื่อนไขนี้)
เนื่องจากเบอร์ที่ใช้อยู่เป็นแบบเติมเงิน และไม่อยากเปลี่ยนเป็นรายเดือนเพราะต้องติดสัญญาอีกนานก็เลยเลือกที่จะเติมเงิน 4,500 บาท จากนั้นโทรไปหา Call Center เพื่อขอรับอุปกรณ์ที่ AIS Shop สาขาใกล้บ้าน ของเราอยู่ปากเกร็ด แต่ได้ไปรับที่ฟิวเจอร์รังสิต ทีแรกนึกว่าจะไปรับได้ที่ เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ซะอีก ส่วนรูปร่างของเจ้า AIS 3G Femtocell ก็อย่างในรูปเลย เสียบอแดปเตอร์ ต่อสายแลน รอเครื่องบู๊ตแป๊ปนึงก็ใช้ได้แล้ว ตอนนี้สัญาณโทรศัพท์ชัดแจ๋วเลย
ตอนแรกที่รับเครื่องนี้เข้าใจว่ามันจะขยายสัญญาณได้ทุกค่ายซะอีก แต่เบอร์หลักที่ใช้อยู่เป็นของ DTAC ก็ยังสัญญาณอ่อนอยู่เหมือนเดิม คงต้องย้ายกันละทีนี้
AIS 3G Femtocell
AIS 3G Femtocell และ Adapter
AIS 3G Femtocell
ขนาดเมื่อเทียบกับ Nexus 4
AIS 3G iSmart
ตอนนี้ AIS ออกโปรย้ายค่ายเบอร์เดิม ลด 50% โทร 1,000 นาที จ่ายเพียง 650 บาท สมัครก่อน 31 ตุลาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น